ข้อมูลพื้นฐาน

ข่าวสารล่าสุด

โรงเรียนราชวินิต นนทบุรี พร้อมด้วยคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าศึกษาดูงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการเรียนรู้กับโรงเรียนที่เน้นทักษะอาชีพ โดยใช้หลักสูตรทวิศึกษา สังคมและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม

ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยาคม เดิมชื่อ โรงเรียนทุ่งก่อวิทยาคม ก่อนที่จะเปิดโรงเรียนนี้ ทางสภาตำบลทุ่งก่อ ได้ทราบข่าวจากทางราชการมาว่า ทางราชการจะเปิดโรงเรียนในกิ่งอำเภอเวียงชัย แต่ทางกิ่งฯ ไม่สามารถที่จะเปิดโรงเรียนได้ เพราะว่าไม่มีที่ดิน และสร้างอาคารเรียนได้ทันกับปีการศึกษา 2518 ได้ และทางกิ่งฯ จึงให้ทางสภาตำบลทุ่งก่อ ได้จัดหาที่ดินให้เหมาะสมในระยะแรกๆ ก็ไม่สามารถจัดหาได้ทันปีการศึกษา 2518

ต่อมา ทางสภาตำบลทุ่งก่อ ได้นัดประชุมกรรมการและแต่งตั้งกรรมการ เพื่อจัดหาที่ดินที่เหมาะสม เพื่อจะตั้งโรงเรียนต่อไป เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2518 ก็เป็นอันว่ากรรมการก็จัดหาที่ดินได้ จำนวน 70 ไร่เศษ และจะยืมศาลาเปรียญศึกษาผู้ใหญ่วัดดงชัย เพราะว่ามีอุปกรณ์พร้อม

เวลาผ่านมา ทางแผนกศึกษาธิการกิ่งอำเภอ ได้รับแจ้งว่า ทางกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไม่อนุมัติให้เปิด จนทำให้ข่าวนี้แพร่ไปถึงประชาชน ชาวบ้านทุกหมู่บ้านของตำบลทุ่งก่อ ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่พอใจ จึงร้องเรียนไปยังสภาตำบลทุ่งก่อ ขอให้ทางสภาตำบลได้ติดต่อเปิดโรงเรียนประจำตำบลให้ได้

ทางสภาตำบล โดยมีกำนันตำบลทุ่งก่อ เป็นประธาน ได้เปิดประชุมสภาอย่างเร่งด่วน เพราะว่าความต้องการของการศึกษาภายในตำบลบังคับจะหลีกเลี่ยงก็หามิได้ และได้มีกรรมการสภาตำบลได้เสนอใน ที่ประชุม และแจ้งระเบียบการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมไว้ที่ประชุมทราบ หลังจากนั้นที่ประชุมก็ได้เข้าพบ นายเรียบ นราดิศร ปลัดอำเภอ หัวหน้ากิ่งอำเภอ และท่านผู้ว่า ชุ่ม บุญเรือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับคำตอบ คือให้คณะกรรมการได้จัดหาสิ่งต่อไปนี้

  1. ที่ดินไม่ต่ำกว่า 45 ไร่ ขึ้นไป
  2. สร้างอาคารเรียนชั่วคราว ตามแบบของกรมสามัญศึกษา 6 ห้องเรียน
  3. จัดหาอุปกรณ์การเรียน การสอนครบ

จากนั้นทางสภาตำบล ก็ได้ประชุมและแต่งตั้งกรรมการ ผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินใหม่ เพื่อเหมาะสมในตำบล และสร้างอาคารเรียน หาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ครบ เพราะว่า โรงเรียนมัธยมศึกษา จะเปิดเรียนปีการศึกษา 2519 แล้ว ทางคณะกรรมการ ได้เสนอที่ดินที่หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งก่อ เพราะว่าเป็นศูนย์กลางของตำบล จนได้ที่ดินบนเนินบ้าน ซึ่งเป็นที่ทำไร่ของชาวบ้าน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ คณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย

  1. นายอ้าย สิทธิขันแก้ว       ประธานกรรมการ
  2. นายหมวก พมาลัย           กรรมการ
  3. นายทองอินทร์ วรรณใส   กรรมการ
  4. นายนิคม เสมาป่า             กรรมการ
  5. นายเครื่อง สุวรรณชัย       กรรมการ
  6. นายบุญทัน แก้วมณี         กรรมการ

เมื่อคณะกรรมการตกลงจะเอาที่ดังกล่าวแน่นอน แล้ว นายอ้าย มณีจันทร์สุข ซึ่งมีที่ดินอยู่ตรงเขตที่กรรมการต้องการ จึงได้เสนอมอบที่ดินให้ 2 ไร่ 2 งาน อีกรายหนึ่ง นายเฮือง แผดนนอก ราษฎรในหมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งก่อ ก็ได้เสนอให้อึก จำนวน 2 งานเศษ และทางคณะกรรมการได้จัดซื้ออีก 49 ไร่ โดยคิดค่าตอบแทนเป็นค่าบุกเบิกให้ไร่ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงินที่จัดซื้อ 49,000 บาท โดยอาศัยเงินจากชาวตำบลทุ่งก่อช่วยกัน

เมื่อได้ที่ดินพร้อมแล้ว นายทองอินทร์ วรรณใส ก็ได้เสนอให้ปลูกสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ตามแบบกรมสามัญศึกษา จำนวน 6 ห้องเรียน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2519 การสร้างอาคารเรียนนี้ อาศัยเงินผันจากสภาตำบลเงินหนองปลา และเงินสมทบของสำนักงบประมาณ โดย จ.ส.อ.ทรงธรรม ปัญญาดี ได้ช่วยนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา แปรญัตติในสภา เอาเงินมาช่วยได้ 50,000 บาท รวมเงินที่สร้างอาคารเรียนทั้งสิ้น 160,600 บาท

โรงเรียนทุ่งก่อวิทยาคม ตั้งขึ้นจากความร่วมมือของราษฎรตำบลทุ่งก่อ ที่สละกำลังกาย และกำลังทรัพย์ และสภาตำบลมีมติ แต่งตั้งกรรมการดำเนินการอีก 1 ชุด เพื่อดำเนินการก่อสร้างและ เป็นผู้ที่จัดการหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดอุปกรณ์การก่อสร้าง และการว่าจ้างช่างรับเหมาจนเป็นที่เรียบร้อย

ดังมีรายนามต่อไปนี้
  1. นายอ้าย สิทธิขันแก้ว         ประธานกรรมการ
  2. นายเครื่อง สุวรรณชัย        รองประธานกรรมการ
  3. นายทองอินทร์ วรรณใส     กรรมการ
  4. นายพินิจ กาจีนะ                กรรมการ
  5. นายตา กาจีนะ                   กรรมการ
  6. นายบุญทัน แก้วมณี           กรรมการ
  7. นายเหลา วันดี                    กรรมการ
  8. นายขัน นัยติ๊บ                    กรรมการ
  9. นายนิพนธ์ ทิพย์โยธิน        กรรมการ
  10. นายหมวก พมาลัย             กรรมการและเหรัญญิก
  11. นายนิคม เสนาป่า              เลขานุการ
  12. นายบุญส่ง พันธ์ประยูร     ผู้ช่วยเลขานุการ

โรงเรียนทุ่งก่อวิทยาคม ดำรงโรงเรียนอยู่ได้เพราะความช่วยเหลือจากราษฎรตำบลทุ่งก่อ และคณะผู้ปกครองนักเรียน เช่น ให้ความช่วยเหลือในด้านโต๊ะครู โต๊ะนักเรียน ตู้สำหรับเก็บเอกสาร และอุปกรณ์การสอน ช่วยสร้างโรงอาหารชั่วคราวและยังได้รับความช่วยเหลือจาก หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่จังหวัดเชียงรายในด้านการปรับพื้นที่ และจัดหาน้ำดื่มของนักเรียนและคณะครูอาจารย์

จนเวลาใกล้จะเปิดโรงเรียนมัธยมแล้ว ทางตำบลทุ่งก่อ ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เปิด ทั้งๆ ที่ทางสภาตำบลก็ได้รายงานไปให้ทางอำเภอ และจังหวัดทราบแล้ว จนทำให้ชาวบ้านเกิดความผิดหวัง บางกลุ่มที่มีความคิดรุนแรง ได้เสนอให้กรรมการ เผาอาคารเรียนที่เพิ่งสร้างมาแล้วเสีย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2519 โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ก็ได้เปิดทำการสอนภาคเรียนที่หนึ่งแล้ว แต่ทางสภาตำบล ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติให้เปิดเรียน คณะกรรมการสภาตำบลได้เปิดประชุมตั้งกรรมการเพื่อติดตามเรื่องราวที่เสนอไป ทางคณะกรรมการและชาวบ้านได้เดินทางจากตำบลทุ่งก่อ เข้าพบรัฐมนตรีศึกษาธิการ แต่ก็ไม่พบ คงพบแต่รัฐมนตรีช่วย ได้ให้คณะกรรมการรอฟังคำตอบ ในการเปิดโรงเรียน จนได้พบกับรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายบรรจง ชูสกุลชาติ ได้ให้คณะกลับมาเพื่อเตรียมการรับนักเรียน และจัดหาอุปกรณ์ครบ

จนวันที่ 22 มิถุนายน 2519 นายจำรัส  รอดพงษ์ ศึกษาธิการกิ่งอำเภอ ได้รับคำสั่งให้รับนักเรียนเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับนักเรียนได้เพียง 52 คน (ชาย 32 คน หญิง 20 คน) เพราะเนื่องจากว่า โรงเรียนเปิดเรียนล่าช้าไป ผู้ปกครองซึ่งเป็นห่วงการศึกษาของบุตรหลานมาก ได้เอาเด็กไปเข้าเรียนในโรงเรียนอื่น ๆ จำนวนมาก นายจำรัส  รอดพงษ์ ก็ได้ติดต่อ กับ นายนิคม เสนาป่า เพื่อขอความร่วมมือช่วยเหลือจัดหาครูที่มีความสามารถในการสอนเด็กนักเรียน ในโรงเรียนที่จะเปิดใหม่ จนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทางกลุ่มก็ได้จัดให้ครูขึ้นไปช่วยทำการสอนอยู่ 1 คน คือ

  1.  นายจำรัส รอดพงษ์ (รักษาการแทนครูใหญ่)
  2. นายนาค พิมพิลา
  3. นายชัชวาลย์ ปัญญาด้วง
  4. นายนิคม เสนาป่า
  5. นายประเสริฐ นันต๊ะรัตน์
  6. นางสาวไพรพรรณ สิทธิเมืองใจ
  7. นายวินัย สิงห์ปัน
  8. นายสุเทพ กาจีนะ
  9. นายศุภโชค สิทธิพงษ์
  10. นางรวิวรรณ กาจีนะ
  11. นางพนอ มงคลศิลป์

คณะครูทั้งหมด ได้ช่วยทำการสอนตลอดเปิดเรียนมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2519 ประมาณเดือนเศษ